“จุติ ไกรฤกษ์”โพสต์เฟชบุ๊ก “4 ปี 2 เดือนผมได้เห็นอะไร?ในกระทรวง พม.”
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กมีข้อความว่า
ย้อนหลังไปที่วันแรกคือวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ภารกิจแรกก่อนการรับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการคือการไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ปทุมธานี ผมได้ทราบว่าค่าอาหารของคุณตาคุณยายได้รับวันละ 57 บาทต่อคน!! เป็นเรื่องแรกที่ต้องปรับปรุง พัฒนาให้พอเพียง
มีนาคม 2563 ปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นปัญหาที่เราชาว พม. ค้นพบว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย สถิติของการหย่าร้างปีละมากกว่า 130,000 คู่ (ไม่นับรวมผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริงมีมากกว่า 4,800,000 คนทั่วประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มต้นเปิดโครงการ “ที่ปรึกษาแม่เลี้ยงเดี่ยว” ขึ้น
13 มกราคม 2563 เชื้อไวรัสโควิด- 19 แพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ความสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัว การปิดประเทศ กระทบการทำงาน การท่องเที่ยว จนถึงรายได้ของทุกคน คน พม. และ อาสาสมัคร พม. (อพม.) สำนึกในหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องเข้าร่วมคลี่คลายทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งอาหารการกิน การส่งต่อผู้เจ็บป่วย การหาเตียง หาห้องพยาบาล หายารักษาโรคส่งให้ถึงบ้าน จึงเป็นงานที่อาจเรียกได้ว่าเสี่ยงตายที่คน พม.ไม่เคยปฏิเสธ!!!
6 ต.ค. 2565 ทุกท่านคงจำได้ถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ ต. อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู การฆาตกรรมหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ มีผู้เสียชีวิต 38 คน(รวมผู้ก่อเหตุและครอบครัว) โดยเป็นเด็กเล็ก24คน วันถัดมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีและเสด็จส่งยิ้มให้กำลังใจผู้ประสบเหตุ
กระทรวง พม. ระดมนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา 40 ทีมเข้าช่วยเหลือผู้สูญเสียและครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า ความช่วยเหลือทุกด้านจากทุกหน่วยงานราชการและเอกชนช่วยคลี่คลายความทุกข์ใจหลังงานศพผ่านพ้นไป หน่วยงานทหารและช่างชุมชนร่วมกันสร้าง ปรับปรุง บ้านของหลายครอบครัว กลุ่มกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ช่วยฝึกอาชีพใหม่ๆที่ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น การสร้างศูนย์เด็กเล็กขึ้นใหม่ทดแทนความสูญเสียเดิม ได้รับความร่วมมือในทันที หลักสูตรมอนเทสซอริ เข้ามาพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นทันตา เวลาผ่านไปเพียง 4 เดือน บ้านอุทัยสวรรค์ ที่หนองบัวลำภู กลับมาสู่ความสงบอีกครั้ง
ตลอด 4 ปี 2 เดือน ผมต้องขอขอบคุณ การเคหะแห่งชาติ ที่ช่วยหาบ้านเช่าให้ทุกคนเข้าถึงได้เพียงเดือนละ 999 บาทถูกกว่าในห้องเช่าอื่น กระจายในหลายจังหวัด โครงการ “เคหะสุขประชา” มีบ้านพร้อมอาชีพให้แม่บ้าน รปภ. มีงานและที่อยู่ที่มีคุณภาพดีพอควร ในราคาถูก การเคหะฯ ปรับทีมซ่อมแซมห้องเช่าจาก 3 เดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 72 ชั่วโมง
การเคหะแห่งชาติ ยังเป็นหน่วยงานอันดับ 1 กระทรวง พม. ต่อเนื่อง ขึ้นท็อป 5 รัฐวิสาหกิจระดับประเทศ ผลประเมิน ITA ปี 2565 สนองนโยบายพัฒนาสร้างโอกาสด้านที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง
มองมาที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ทำโครงการบ้านมั่นคงในหลายชุมชน ได้จำนวนมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีความสวยงามระดับเทียบเคียงกับเมืองใหญ่ของโลกได้อย่างไม่อายใคร ไปจนถึงเรื่องคนเล็กๆ อย่างคุณยายคนหนึ่ง ในวัย 69 ปี ที่ตลาดบางน้ำผึ้ง ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ได้รับการส่งเสริมทำอาหารว่างของไทยโบราณ”ม้าฮ่อ”ขายวันสุดสัปดาห์อาจจะได้รับเงินเพียงเดือนละ 6,000 บาทแต่สร้างความสุขใจความภาคภูมิใจให้กับคุณยายได้อย่างเปี่ยมล้น
มองไปที่การส่งเสริมสวัสดิการประชาชน เด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน เมื่อผมเริ่มต้นเข้ารับงานมีเด็กได้รับเพียง 4 แสนกว่าคนพวกเราชาว พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน เร่งทำการสำรวจและลงทะเบียน ร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก มากกว่า 2 ล้าน 2 แสนคนทกรมกิจการผู้สูงอายุ ดูแลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันมากกว่า 11 ล้านคนทุกเดือน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดูแลคนพิการทั่วประเทศมากกว่า 2 ล้าน2 แสนคน ทุกเดือนเช่นกัน สถานธนานุเคราะห์ หรือ สธค. คือโรงรับจำนำที่ดอกเบี้ยถูกที่สุด ขวัญใจคนยากอย่างแท้จริง
ผมต้องขอกราบขอบพระคุณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ท รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้การสนับสนุนในทุกมิติต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยทั่วประเทศและในต่างประเทศ กระทรวง พม. จัดทำโครงการพื้นที่พิเศษระเบียงสังคม หรือ SCC (Social Capital Corridor) ควบคู่กับ “ระเบียงเศรษฐกิจ” (มี.ค. 2566)
ESS help me เป็นแอพพลิเคชั่น แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่พม. ร่วมกับสถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,200 สถานี รับแจ้งโลเคชั่นที่เกิดเหตุแบบอัตโนมัติ ได้เขาช่วยเหลือระงับเหตุมากกว่า 100 เหตุ ได้ทันท่วงที มีคนดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 4 แสนคน
สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุด คือเจ้าหน้าที่ พม.และอาสาสมัคร พม. (อพม.)จะเข้าถึงเหตุที่ได้รับแจ้งเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเร็วที่สุด ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว จำนวน 4,355 แห่ง ปัจจุบันมี อพม. ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 334,541 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566)ที่จะเป็นเพื่อนของท่าน ตลอด 24 ชั่วโมง
4 ปี 2 เดือน มี “ความดีงาม” และ “ความสุข” ให้เห็น ให้สัมผัส เป็นที่ประจักษ์อีกมากมาย เล่ากัน 7 วัน 7 คืนก็ยังไม่หมดครับ
ขอคารวะทุกท่าน ด้วยความเคารพจากใจจริง
นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4 ก.ย. 2566