พิษณุโลก ส.ส.พิมพ์พิชชา เหยียบหัวคันนา ดูข้าวนาปีแห้ง เหี่ยวเฉา ชาวบ้านยื่นหนังสือขอฝนเทียม

วันที่ 19 สิงหาคม 2566 นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ดูสถานการณ์”ต้นข้าวยืนต้นตาย” หมู่ 5 ต.วัดตายม อ.บางกระทุ่ม เหตุฝนทิ้งช่วง สามารถถอนต้นข้าวที่ตายคามือขึ้นมาได้ ท่ามกลางภาวะแห้งแล้งวงกว้าง จนปูนาตาย คาแปลงนาข้าว โดยชาวบ้าน ต.วัดตายม อ.บางกระทุ่มเกือบ 100 คน เดือดร้อนหนักได้นัดรวมพลพร้อมกำนัน-ผู้ใหญ่ โอดครวญร้องถึง ส.ส. ว่า ข้าวนาปีนับแสนไร่เหี่ยวเฉา ขาดน้ำใน 5 ตำบล คือ พื้นที่อำเภอบางกระทุ่มต่อเนื่องถึง อ.เนินมะปราง จึงได้ยื่นหนังสือต่อ นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ขอความอนุเคราะห์ ประสานงานขอฝนหลวงและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

หนังสือระบุถึง พื้นที่เกษตรกรรมตำบลวัดตายม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก 27,671 ไร่ ด้วย มีประชากรจำนวนครัวเรือน 1,742 ครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตร ทำรายได้หลักให้แก่เกษตรกร คือ ผลผลิตข้าว เกษตรในพื้นที่ตำบลวัดตายม จะดำนาข้าวในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา โดยอาศัยแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น บึง หนองน้ำ คลองสาธารณประโยชน์ และน้ำจากฤดูฝนเป็นหลัก

เนื่องจากปัจจุบัน ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อย และฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขาดน้ำ เหี่ยวเฉา และแห้งตายจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวจึงหารือร่วมกับผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและตัวแทนเกษตรกร หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ติดต่อขอฝนหลวง เพื่อบรรเทาภัยแล้งและขอสร้างประตูน้ำ ที่หมู่ 6 เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งกั้นแม่น้ำ”คลองชมพู”เป็นตำบลสุดท้ายก่อนเข้าจังหวัดพิจิตร เพราะประตูน้ำเดิม สภาพทรุดโทรม ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้

นายบุญลือ โพศรีวงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเนินกุ่ม เป็นตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า พื้นที่เกษตรกรรมใน 5 ตำบล คือ ต.วัดตายม ต.เนินกุ่ม ต.ท่าหมื่นราม ต.พันชาลี ต.หนองพระ ใน 2 อำเภอคือ อ.บางกระทุ่ม และ อ.เนินมะปราง พบว่า แปลงข้าวนาปีกำลังเสียหาย 150,000 ไร่เศษ ซึ่งไม่อยู่ในเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกร 8,900 ครัวเรือนกำลังได้รับความเดือดร้อน ไม่มีผลผลิตข้าวนาปี บางรายไถปลูกไป 2 ครั้งแล้วก็ยังไม่รอด ข้าวแห้งเหี่ยวกำลังจะตาย

นอกจากนี้ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ปีนี้ถือว่า เป็นปีแรก ที่ได้รับผลกระทบปรากฏการณ์”เอลนีโญ” ทั้งนี้ ช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำท่วมหัวคันนาไปแล้ว สาเหตุหลักๆ คลองชมพู แห้งขอด ไม่มีน้ำหลากจาก อช.ทุ่งแสลงหลวง อีกทั้งไม่สามารถสร้างเขื่อน”ชมพู”กักเก็บน้ำได้ เนื่องจากมีกลุ่มเอ็นจีโอต่อต้าน

จากนั้น นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ยังเดินทางไปที่ หมู่ 6 ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม เพื่อติดตามแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจาก ลำน้ำคลองชมพู ไม่มีน้ำ มีแต่วัชพืชเต็มไปหมด ขึ้นเกาะประตูน้ำเนินกุ่ม ซึ่งเก่า ทรุดโทรม ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ โดย ส.ส.เขต 4 สอบถามถึงสภาพที่เห็น ซึ่ง จนท.ชลประทาน ระบุว่า ประตูน้ำเนินกุ่ม กรมชลประทานรับทราบปัญหาแล้ว อยู่ระหว่างกำลังออกแบบประตูน้ำใหม่ คาดว่า อีก 3 ปี บรรจุแผนเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า พื้นที่ อ. เนินมะปราง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะม่วง อินทผลัม ข้าว มันสำปะหลังฯลฯ ซึ่งเป็นเขตติดต่อ อ.บางกระทุ่มก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน ต้นข้าวหลายหมื่นไร่กำลังจะเสียหายอย่างหนัก มีหนังสือจาก นางสาวชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานแปลงใหญ่อำเภอเนินมะปราง ถึง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก พร้อมแนบสิ่งที่ส่งมาด้วยคือ 1.รายละเอียดพื้นที่ความเสียหายจาก ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง 2. ภาพถ่าย ทุ่งนา ต้นข้าวที่เสียหาย

นื่องด้วยขณะนี้ ต้นข้าวหลายหมื่นไร่จากหลายตำบลในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง กำลังจะเหี่ยว เฉา ตายเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งตนได้ประสานไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่างแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการทำฝนเทียมได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ

ดังนั้น ตนในฐานะตัวแทนเกษตรกร กลุ่มปลูกข้าว กลุ่มมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มข้าวโพด และพืชอื่นๆ จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน ได้โปรดหาแนวทางช่วยเหลือ แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวอำเภอเนินมะปราง ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างเร่งด่วน