“พงษ์มนู ทองหนัก”ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก
ศิษย์คนสุดท้าย “โกศล ไกรฤกษ์”
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ในสนามเลือกตั้งพิษณุโลกเขตที่ 3 ประกอบด้วย อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง ผู้ที่คว้าชัยมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในเขตนี้ คือ นายพงษ์มนู ทองหนัก สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นับว่าเป็นการแจ้งเกิด ส.ส.สมัยแรกบนเวทีการเมือง
แต่ทว่ามิใช่เป็นการลงสนามครั้งแรกของนายพงษ์มนู และไม่ใช่คนหน้าใหม่ทางการเมืองในพื้นที่อำเภอวังทอง เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่ง ส.จ.เขตอำเภอวังทอง มาก่อน และถูกส่งลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้ว โดยเฉพาะในปี 2562 การเลือกตั้งในเขตที่ 3 พ่ายแพ้ไปเพียง 204 คะแนน
กล่าวสำหรับ นายพงษ์มนู ทองหนัก มีพื้นเพภูมิลำเนา เกิดที่บ้านวัดตาลตำบลพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (พ.พ.) รุ่น 2523-2526 และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยบิดาคือนายสมาน ทองหนัก เคยเป็นแกนนำต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมปัญหาที่ดินสาธารณะทุ่งทะเลแก้ว ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก ในปี 2523-2524 ทั้งนี้ทางราชการต้องการเวนคืนผืนดินทำนาหลายร้อยไร่ เพื่อต้องการขยายการก่อสร้างวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม พิษณุโลก ในขณะนั้น กล่าวคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม(ส่วนทะเลแก้ว)ในปัจจุบัน
แต่ทว่าชาวบ้านในพื้นที่ตำบลพลายชุมพล และตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่บุกร้างถางพง อาศัยเป็นสถานที่ทำนาเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาหลายชั่วอายุคน ได้รวมตัวกันต่อต้านและเรียกร้องทางราชการ โดยมีนายสมานเป็นแกนนำแถวหน้า ทั้งปัญหาไม่มีที่ทำกิน และไม่มีการชดเชย หรือค่าตอบแทนแต่อย่างใด จนนายสมานแกนนำต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม
โกศล ไกรฤกษ์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2523-2524 นายโกศล ไกรฤกษ์ ฉายา “นักเลงโบราณ” อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคกิจสังคม หลายสมัย ผู้ล่วงลับ โดดลงมาช่วยราษฎรที่ได้รับเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด และมีนายคนเด็ด มั่นสีเขียว อดีต ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก พรรคกิจสังคม เป็นมือไม้คนสำคัญของนายโกศล เพื่อเข้ามาแก้ปัญหามีข้อเรียกร้องให้ทางราชการ จ่ายค่าชดเชย ที่ชาวบ้านบุกป่าฝ่าดง จนราบคาบกลายเป็นผืนนาอันอุดม และอีกส่วนหนึ่งแบ่งปันให้กับราษฎรที่เคยประกอบอาชีพทำนาดังเดิมต่อไป
ในที่สุดทางราชการยอมให้ชาวนาได้อาศัยพื้นที่ทำกิน และอีกด้านหนึ่งจ่ายค่าเวนคืนหรือชดเชยให้กับราษฎร ในวงเงินไร่ละกว่า 7,300 บาท เหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อย
ต่อมานายสมาน ได้ส่งบุตรชายคือนายพงษ์มนู เข้าไปเรียนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร โดยได้อาศัยร่มไม้ชายคา ภายในบริเวณบ้านพักของนายโกศล จนเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งนายโกศล ได้ให้ความเมตตาดุจดังบุตรหลานคนหนึ่ง ถูกฟูมฟักกล่อมเกลาเรียนรู้หลายเรื่องราวและเป็นผู้ติดตามที่ใกล้ชิด จนกระทั่งนายพงษ์มนู เข้าไปเป็นเทรดเดอร์ ในตลาดหลักทรัพย์อาคารสินธร เทาว์เวอร์ ย่านถนนวิทยุ เขตลุมพินี กรุงเทพมหานคร ประกอบกับนายโกศลเล่นหุ้น นับว่าเป็นเซียนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน
นายโกศล ได้เทคโอเวอร์บริษัทตะวันออกไฟแนนซ์จำกัด จากกระทรวงการคลัง และสามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น และนายพงษ์มนู ย้ายมาทำหน้าที่เทรดเดอร์ (Trader ) ของบริษัทตะวันออกไฟแนนซ์ จำกัด จากที่เคยเคาะราคาหุ้นบนกระดาน และต่อมาพัฒนามาเคาะบนจอคอมพิวเตอร์ ต่อมาขยับนายพงษ์มนู ให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าห้องค้าหลักทรัพย์ บริษัทตะวันออกไฟแนนซ์ จำกัด สาขาปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ภายหลังจากที่บริษัทตะวันออกไฟแนนซ์ จำกัด ปิดตัวลงในยุค “ต้มยำกุ้ง” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายโกศล ได้กลับมาทำไร่ที่ตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และได้นำนายพงษ์มนู ติดตามมารับใช้ใกล้ชิดอีกด้วย และส่งลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดพิษณุโลก จนได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.จ.เขตอำเภอวังทอง
นายพงษ์มนู พรรคประชาธิปัตย์ เคยส่งลงสมัคร ส.ส.พิษณุโลก “ขัดตาทัพ” ครั้งแรกในปี 2548 และการเลือกตั้งปี 2554 เขตพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีคะแนนสูงมาอันดับ 3 จากนั้นในปี 25662 ย้ายมาลงสมัคร ส.ส.เขต 3 พื้นที่อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง ซึ่งเป็นพื้นที่เลือกตั้งของนายจุติ ไกรฤกษ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่นายพงษ์มนู พ่ายแพ้ไปแบบฉิวเฉียดเพียง 204 คะแนน
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นายจุติ ไกรฤกษ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และ ส่งนายพงษ์มนู ขณะที่นั่งเก้าอี้รองนายกองค์บริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ลาออกมาลงสมัคร ส.ส. พิษณุโลก เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ จนประสบชัยชนะทั้งนายจุติ และนายพงษ์มนู ได้รับการเลือกตั้งจนเป็นว่าที่ ส.ส.ทั้งคู่ โดยใช้เวิร์ดดิ้งหรือสโลแกนว่า “เลือก…หนึ่ง ใช้ได้…สอง”
ความสำเร็จของนายพงษ์มนู ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า หลังการพ่ายแพ้ในปี 2562 ตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้ทุ่มเทลงพื้นที่อย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง อีกทั้งทำหน้าที่แทนนายจุติพบปะแก้ปัญหาให้กับราษฎร รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานบวช งานแต่ง งานตาย เป็นต้น ประการสำคัญนายจุติ ได้จัดกิจกรรมเสริมทัพเน้นหนักลงพื้นที่ช่วยเหลือราษฏรหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ด้านต่างๆ รวมทั้งพี่สาวนายจุติ คือ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ตลอดจนทีมงานของนายจุติ ในพื้นที่จนมีความแนบแน่นยิ่ง
ส.ว.พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์
นายโกศล ไกรฤกษ์ อดีต ส.ส. พิษณุโลก หลายสมัย รัฐมนตรีหลายกระทรวง และรองนายรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ทำให้บุคคลใกล้ชิดหลายคนถูกปลุกปั้นหล่อหลอมซึมซับ และเป็นต้นแบบทางการเมืองในภารกิจรับใช้ใกล้ชิดกับประชาชน จนสามารถก้าวขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.หลายคนที่มีชื่อเสียง อาทิ นายประเทือง วิจารณ์ปรีชา อดีต ส.ส.พิษณุโลก นายคนเด็ด มั่นสีเขียว อดีต ส.ส.พิษณุโลก นายพิทักษ์ สันติวงศ์เดชา อดีต ส.ส.พิษณุโลก นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก และนายพงษ์มนู ทองหนัก ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ
นายโกศล ไกรฤกษ์ ทายาทการเมืองของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ อดีต ส.ส. พิษณุโลก 3 สมัย และเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
อีกด้วย นายจุติ เป็นบุตรนายโกศลและเป็นหลานปู่ ร.ท.จงกล นับว่าตระกูลไกรฤกษ์ เป็น ส.ส. 3 ชั่วอายุคน ตระกูลแรกในสภาผู้แทนราษฎร คือ “ปู่-พ่อ-ลูก” คือ “ร.ท.จงกล-โกศล-จุติ” อีกทั้งนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ เคยได้รับไว้วางใจจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 2 ครั้ง
“พงษ์มนู ทองหนัก”จึงถูกปลูกฝังอุดมการณ์ และบนเส้นทางชีวิตที่เติบโตมากับวิถีทางการเมืองมาอย่างยาวนาน คงจะสะท้อนความเป็นนักการเมืองคุณภาพได้อีกคนหนึ่ง