พิษณุโลก วางพวงมาลาถวายราชสักการะ วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 07.00 น. ณ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานและเข้าร่วมเป็นเกียรติพิธีวางพวงมาลาถวายราชสดุดีงานรัฐพิธี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานนำเหล่าบรรดาข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ และพสกนิกรชาวจังหวัดพิษณุโลก
โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น ประธานพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ พิธีบวงสรวงสังเวย พระบรมราชานุสาวรีย์ และเทวรูป เทพารักษ์ เมืองพิษณุโลก โดยในปีนี้ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมจัดโต๊ะเครื่องสังเวยบูชา อันประกอบด้วย ผลไม้ เครื่องหวาน หลากชนิดในพิธีอีกด้วย
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ องค์วีรมหาราชจำลอง (พระบูชา) พระกริ่ง และเหรียญ พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และรูปเคารพ ในองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ยอดนิยม เมืองพิษณุโลก พ.ศ. 2502-ปัจจุบัน และพระสกุลเมืองพิษณุโลก ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก ในช่วงทรงพระเยาว์ของพระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก หลังจากที่เสด็จกลับแผ่นดินไทยพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก และประกาศอิสรภาพไม่ยอมเป็นประเทศราชของกรุงหงสาวดีอีกต่อไป พระองค์ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญและพระปรีชาสามารถ ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชย์สมบัติ 15 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
ทั้งนี้ วันที่ 25 เมษายนของทุกปี คณะรัฐมนตรี กำหนดให้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อแผ่นดินไทยและชนชาติไทย พระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ ในอดีตพระองค์ได้กอบกู้อิสรภาพของไทย และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติจนทำให้มีประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน