180

ป.ป.ช.”ลงดาบ” อดีตพลังจังหวัดอุตรดิตถ์ เบียดบังงบประมาณ


วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 แถลงข่าวผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ดำเนินการไต่สวน จำนวน 1 เรื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กรณีกล่าวหา พลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ กับพวก ทุจริตเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างและเครื่องดื่มของผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการผลิตบ่อหมักแก๊สชีวภาพ โดยมี
ผู้ถูกกล่าวหาดังต่อไปนี้

1. นายสัตยา อาจหาญ   เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
2.. นายชัยสิทธิ์ สนิทไทย  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายช่างเทคนิคปฏิบัติงาน  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
3. นางสาวฉันท์ชนก โพธิ์จันทร์  เมื่อครั้งเป็นลูกจ้างสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3

จากกรณีการทุจริตดังกล่าว พบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ดังนี้

เมื่อกระทรวงพลังงานได้โอนจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับใช้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการผลิตบ่อหมักแก๊สชีวภาพ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ เป็นผู้ร่างแผนงานโครงการทั้งหมดซึ่งกำหนดจัดฝึกอบรมทั้งหมด ๑๒ แห่ง แห่งละ ๒ – ๑๕ วัน และได้สั่งการให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ จัดทำ พิมพ์เอกสารขออนุมัติโครงการ และรายละเอียดประกอบ เพื่อนำไปให้ผู้ถูกล่าวหาที่ ๒ ลงนามในฐานะผู้เสนอและขออนุมัติโครงการ จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงลงนามอนุมัติโครงการ

ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้สั่งการให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และข้าราชการภายในสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์อีก 2 ราย ยืมเงินทดรองราชการจากงบประมาณโครงการ แล้วนำมามอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 305,800 บาท (สำหรับค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่าง/เครื่องดื่ม และค่าวิทยากร) โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้จัดพิมพ์เอกสารขออนุมัติยืมเงิน พร้อมรายละเอียดประกอบ

โดยการจัดฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่ไม่เป็นไปตามวัน เวลา และสถานที่ รวมทั้งจัดฝึกอบรมไม่ครบจำนวนวันตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1อนุมัติโครงการ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่กลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการฝึกอบรมและชาวบ้านผู้เข้าร่วมฝึกอบรมลงชื่อในแบบรายชื่อไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการจัดฝึกอบรมครบจำนวนวันตามที่กำหนดในโครงการ ซึ่งแท้จริงแล้วมีการฝึกอบรมเพียงแห่งละหนึ่งวันเท่านั้น

ภายหลังจากที่ได้จัดฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่เสร็จ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้สั่งการด้วยวาจาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จัดทำเอกสารขออนุมัติส่งใช้เงินยืม และเอกสารประกอบการเบิกจ่าย อันมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนวัน เวลา และสถานที่ ในการจัดฝึกอบรมไม่ตรงตามความจริง รวมทั้งสั่งการให้นักศึกษาฝึกงานของสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น ทำการปลอมแปลงลายมือชื่อบุคคล 3 ราย ในใบสำคัญรับเงินเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบุคคลทั้งสามเป็นผู้รับเงินค่าจัดทำอาหารกลางวัน อาหารว่างและเครื่องดื่ม จากสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งที่บุคคลทั้งสามมิได้รับเงินแต่อย่างใด จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงลงนามอนุมัติให้หักล้างเงินยืมทดรองราชการ

เต็มจำนวนเงินที่ยืมทั้ง 4 ครั้ง โดยไม่เหลือเงินส่งคืน ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ถือเงิน และทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าเอกสารขออนุมัติส่งใช้เงินยืมทดรองราชการและเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินโครงการ มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนวัน เวลา และสถานที่ในการจัดฝึกอบรมอันเป็นเท็จ และมีการปลอมแปลงลายมือชื่อ เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบในการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เบียดบังเงินค่าใช้จ่ายในส่วนค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ที่ได้รับมอบมาจากข้าราชการผู้ยืมเงินทดรองราชการทั้ง 3 ราย จำนวน 4 ครั้ง ไปเป็นของตนเองโดยทุจริต

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

1. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147 มาตรา 157 มาตรา 162 (4) มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) และ (4)

2. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (2) และมาตรา 83 (4)

3. ให้กันผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไว้เป็นพยาน ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ.2561

ปัจจุบัน อัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 162(4) มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 มาตรา 7 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

☆☆ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ☆☆