ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก จัดงานมหกรรมควายยักษ์เมืองสองแควครั้งที่ 4 เนื่องในวันอนุรักษ์ควายไทย เพื่อพัฒนาการตลาดกระบือและอนุรักษ์กระบือไทยพื้นเมือง ส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก มีการปรับปรุงพันธุกรรมของกระบือให้มีคุณภาพดีขึ้น
วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ที่ลานอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว ) จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมควายยักษ์เมืองสองแควครั้งที่ 4 เนื่องในวันอนุรักษ์ควายไทย 14 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดขึ้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการตลาดกระบือ และอนุรักษ์กระบือไทยพื้นเมือง มุ่งหวังส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก มีการปรับปรุงพันธุกรรมของกระบือ ให้มีคุณภาพดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านสุขภาพ และการผลิตสัตว์ที่ดีให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่พันธุ์กระบือในพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่างคึกคัก ได้มีประชาชนและเกษตรกรเข้าชมการประกวดมหกรรมควายยักษ์ กันอย่างเนืองแน่น
โดยได้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือจากจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ฯลฯ ส่งกระบือกว่า 100 ตัวเข้าร่วมประกวด อาทิ กระบือสีดำ รุ่นฟันน้ำนม เพศผู้/เพศเมีย ,กระบือดำ รุ่นฟันน้ำนม 1 – 2 คู่ ,กระบือสีดำ รุ่นฟันแท้ 3 – 4 คู่ เพศผู้/เพศเมีย รวมทั้งประกวดกระบือเผือก และกระบือแคระ รวม 14 รุ่น เพื่อชิงเงินรางวัลและถ้วยเกียรติยศ และจัดให้มีการบายศรีสู่ขวัญกระบือ อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดนิทรรศการการเลี้ยงกระบือไทย การบริหารจัดการฟาร์ม และการปรับปรุงสายพันธุ์กระบือ ประกวดการวาดภาพ ประกวดเรียงความความสำคัญเกี่ยวกับกระบือ แข่งขันปั้นควาย และการประกวดคำขวัญวันอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย แข่งขันการปั้นควาย พร้อมรางวัลมากมาย ท่ามกลางประชาชนและเกษตรกรร่วมงานจำนวนมาก
นายสัตวแพทย์ธรรมนูญ ทองสุข ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า กระบือนับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่ออาชีพทางการเกษตร กระบือถูกใช้เป็นแหล่งแรงงานในการเกษตร และการใช้มูลเป็นปุ๋ยไร่นานอกจากนี้เมื่อมีความจำเป็นก็สามารถขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์พบว่าจำนวนกระบือของประเทศไทยลดลงมากเมื่อปีพ.ศ 2552 ประเทศไทยมีจำนวนกระบือประมาณ 1,300,000 ตัว
ต่อมาในปี 2556 กระบือ เหลือประมาณ 800,000 ตัว เนื่องจากการใช้เครื่องจักรกลในไร่นาแทนการใช้แรงงานกระบือ พื้นที่เลี้ยงกระบือลดลงเกษตรกรใช้พื้นที่ทำการเกษตรอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนเร็วกว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตกระบือคุณภาพ ประกอบกับตลาดมีความต้องการกระบือเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จังหวัดพิษณุโลกจึงได้อนุมัติให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกดำเนินโครงการ การปศุสัตว์แปลงใหญ่อัจฉริยะ (Smart Farmer Livestock Large Scale Farm)(โคเนื้อ ไก่ดำ กระบือ ) ตามแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดพิษณุโลก ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งผลิตกระบือคุณภาพมีการคัดเลือกลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีของกระบือ สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มรายได้ และส่งเสริมการอนุรักษ์กระบือไทยพื้นเมืองให้คงอยู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน