ป.ป.ช.”ฟันอาญา” นักวิชาการ คณะแพทยศาสาตร์ ม.นเรศวร ยักยอกเงิน
นาบสมยศ กาสี ผู้อำนวยการสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนางสาวรัตนาวรรณ พ.เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาระดับชำนาญการ สังกัดสำนักงานเลขานุการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจังหวัดพิษณุโลก
ผู้ถูกกล่าวหา
ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา เป็นเจ้าพนักงานยักยอกเงินของทางราชการ โดยนางสาวรัตนาวรรณ พ. ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินในการดำเนินการโครงการเสริมสร้างประสบการณ์แพทย์ ๗ ดาว ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเมื่อวันที่ ๒ข กุมภาพันธ์ 2561 นางสาวรัตนาวรรณ พ. ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยืมเงินจำนวน ๑๙๕,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการเสริมสร้างประสบการณ์แพทย์ ๗ ดาว แต่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว และไม่ได้ส่งเงินคืน เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๓๖/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๗ มีมติว่า การกระทำของนางสาวรัตนาวรรณ พ. ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่น
เอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ และมาตรา ๑๕๗ และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ
ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕61 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 39 วรรคสาม ประกอบกับ ข้อ 3 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2543 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557
สำหรับความผิดทางวินัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีคำสั่งที่ 00441/2563 ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 ลงโทษไล่นางสาวรัตนาวรรณ พ. ออกในการกระทำความผิดนี้ เหมาะสมแก่ความผิดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙1 (๒) อีก ให้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยั อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นางสาวรัตนาวรรณ พ. ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๙๑ (1) ต่อไป
♡♡ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ♡♡